Tuesday 2 May 2017

8. SCL's D&D Protocol (Disruption Analysis) ep.6

เอกสาร "Delay and Disruption Protocol" ตอนที่6

การเรียกร้องเงินชดเชยจากการทำงานได้ไม่ต่อเนื่อง(Disruption Claim)

การทำงานได้ไม่ต่อเนื่อง (Disruption) คือการทำงานของผู้รับจ้างที่ถูกรบกวน มีอุปสรรคขัดขวาง หรือถูกขัดจังหวะให้ต้องหยุดงาน เปลี่ยนวิธีการทำงาน หรือชะลอการทำงานลง จึงทำให้การงานมีประสิทธิภาพตกลงหรือได้ผลงานลดลง การเรียกร้องเงินเพิ่มจากการทำงานได้ไม่ต่อเนื่องนี้ (Disruption claim) จึงเกี่ยวข้องกับการสูญเสียผลิตภาพ(Loss of productivity)ของการทำงานอันใดอันหนึ่งที่ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างสมเหตุสมผลมาแล้ว อันเนื่องมาจากเหตุ(Disruption Events)ที่ผู้เป็นต้นเหตุต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบ

ยกตัวอย่างDisruption Events ก็อย่างเช่น การรับมอบสถานที่ก่อสร้างแบบทีละน้อยที่ไม่เป็นไปตามแผนที่ตกลงกันไว้ (piecemeal site access) งานเพิ่มต่างที่แทรกเข้ามา (Out of sequence works) หรือการเปลี่ยนแปลงแบบ (design changes) สภาพดินที่ไม่อาจคาดคิดมาก่อนได้(unforeseen ground condition) การที่CAอนุมัติหรือมีคำสั่งล่าช้า(untimely approvals or instructions from the CA) รวมทั้งเหตุอื่นๆที่เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง เหตุเหล่านี้นอกจากมีผลกระทบโดยตรงต่องานแล้วยังอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางอ้อมอื่นๆได้อีกเช่น การรองานของคนงานจำนวนมาก(Crowding of labour) หรือ การรองานของลำดับงานถัดไป(stacking of trades) การต้องตรวจงานที่กระจัดกระจาย (dilution of supervision through fragmented work gangs) การที่ต้องโหมทำงานล่วงเวลาซึ่งนำไปสู่การล้า การต้องเริ่มเรียนรู้งานใหม่ซ้ำๆ (repeated learning cycles) ที่ทำให้ประสิทธิภาพงานลดลง


แต่การสูญเสียประสิทธิภาพการทำงานจากเหตุอื่นๆที่ผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบเช่น การวางแผนที่ผิดพลาด การดูแลคนงานไม่ทั่วถึง การกลับไปซ่อมงานซ้ำๆเนื่องจากมีข้อบกพร่อง การขาดการประสานงานที่ดีกับผู้รับจ้างช่วง หรือ การคิดปริมาณงานตกหล่นในราคาประมูล จะไม่สามารถอ้างสิทธิเรียกร้องเป็นDisruption claimได้ 

การวิเคราะห์การทำงานได้ไม่ต่อเนื่อง (Disruption Analysis) 

การวิเคราะห์การทำงานได้ไม่ต่อเนื่อง (Disruption Analysis)เป็นการคำนวณหาการสูญเสียผลิตภาพ(Loss of productivity)ที่ก่อให้เกิดค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการทำงานปกติหากไม่มีเหตุรบกวนการทำงานนั้นๆที่ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดชอบ ซึ่งต้องเริ่มจากการวิเคราะห์ว่างานอะไรบ้างที่ได้รับผลกระทบนั้น มีอัตราการทำงานด้วยทรัพยากรใดบ้างด้วยวิธีการทำงานอย่างไร ในช่วงเวลาหนึ่งๆโดยปกติเป็นอย่างไร เริมมีประสิทธิภาพตกลงช่วงใดด้วยอัตราลดลงอย่างไร แล้วจึงนำข้อมูลนั้นมาคำนวณเป็นค่าเสียหายหรือต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและควรจะได้รับการชดเชย ดังนั้นการบันทึกข้อมูลโครงการ(Project records)ต่างๆที่จะใช้ค้นหาอัตราการทำงานได้นั้น จึงมีความสำคัญอย่างมากสำหรับการเรียกร้องเงินชดเชยการวิเคราะห์การทำงานได้ไม่ต่อเนื่องนี้

การวิเคราะห์การทำงานได้ไม่ต่อเนื่อง (Disruption Analysis)เกี่ยวข้องกับ ต้นทุนทางตรง อันได้แก่ แรงงานทางตรง(direct labour)และเครื่องจักรที่ใช้ทำงานโดยตรง(task-specific plant)ที่ใช้ทำงานที่ถูกรบกวนการทำงานนั้นๆ และยังอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางอ้อม เช่น การเพิ่มงานของบุคคลากรประจำหน่วยงาน(Supervision staff)หรือ เครื่องจักรที่เพิ่มขึ้นเข้ามาที่หน่วยงานแต่กลับต้องมารองาน (standing plant)อันเป็นผลมาจาก Disruption eventนั้นๆ 

วิธีการวิเคราะห์การทำงานได้ไม่ต่อเนื่อง (Method of Disruption Analysis) 

SCL แบ่งพื้นฐานการวิธีวิเคราะห์การทำงานได้ไม่ต่อเนื่อง(Disruption Analysis)อย่างกว้างๆ ออกเป็น2ประเภท คือ Productivity-based methods และ Cost-based methods แต่ละประเภทมีวิธีวิเคราะห์ต่างๆที่มีความแม่นและเป็นที่ยอมรับแตกต่างกันไป SCLได้สรุปวิธีการต่างๆไว้ดังนี้
1.  Productivity-based methods
วิธีวิเคราะห์ประเภท Productivity-based methodsจะวิเคราะห์บนพื้นฐานการเปรียบเทียบระหว่างผลิตภาพที่ควรทำได้ตามทฤษฎี(theoretical productivity)หรือตามแผน กับ ผลิตภาพที่วัดได้จริง(actual measured productivity)เพื่อคำนวณหาProductivityที่สูญเสียไปแล้วจึงคำนวณราคาค่าสูญเสียของทรัพยากรนั้นๆ ส่วน Cost-based methodsจะวิเคราะห์บนพื้นฐานการเปรียบเทียบระหว่างต้นทุนของทรัพยากรที่ใช้ในการทำงานที่ควรจะเกิดขึ้นตามแผน กับ ต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงเพื่อคำนวณค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากเหตุที่รบกวนการทำงานนั้นๆ โดยจะไม่ทำการวัดproductivity

SCL แบ่งการวิเคราะห์บนพื้นฐานของผลิตภาพ ออกเป็น3วิธี เรียงตามลำดับ ความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ คือ 1.Project-specific studies , 2.Project-comparison studies และ3. Industry-studies ตามลำดับ

1.1 Project-specific studies
(a) Measured mile analysis: เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายที่สุดมากกว่าวิธีอื่นๆ แต่การที่จะใช้วิธีนี้ได้จะต้องมีการเก็บบันทึกข้อมูลในหน่วยงานก่อสร้างที่เพรียบพร้อมสมบูรณ์กว่าวิธีอื่นๆ ทั้งนี้เพราะวิธีนี้จะพิจารณาเฉพาะผลกระทบที่เกิดจากเหตุรบกวนที่ผู้ว่าจ้างจะต้องรับผิดชอบที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเวลาที่เกิดขึ้นเท่านั้น จึงขจัดปัญหาข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความสมเหตุสมผลของผลิตภาพตามแผนที่คิดไว้เดิม (Validity of original productivity assumptions at the tender stage) และ การทำงานที่ด้อยประสิทธิภาพของผู้รับจ้างเอง(Contractor’s own performance)

หลักการของวิธีนี้ก็คือ การนำบันทึกการวัดระดับผลงานจากอัตราการทำงานปกติในพื้นที่หนึ่งในช่วงเวลาที่การทำงานไม่ได้ถูกรบกวนจากDisruption events มาเปรียบเทียบกับ บันทึกการวัดระดับผลงานจากอัตราการทำงานในพื้นที่เดียวกันหรือมีลักษณะคล้ายกันในพื้นที่อื่นในช่วงเวลาที่การทำงานได้รับผลกระทบจากเหตุรบกวนนั้นๆ ทั้งนี้จะต้องเปรียบเทียบบนพื้นฐานเดียวกัน เช่นไม่ควรนำProductivityในช่วงเริ่มงานที่เป็นLearning curve periodมาใช้เป็นbaselineในการเปรียบเทียบกับช่วงเวลาที่งานเข้าที่แล้ว หรือในกรณีที่ไม่มีพื้นที่ใดที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการถูกรบกวนเลย ก็ต้องเลือกใช้พื้นที่และช่วงเวลาที่ถูกรบกวนน้อยที่สุดเป็นbaseline และถ้ามีเหตุอื่นใดที่ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ว่าจ้างเข้ามาร่วมเกี่ยวข้องด้วย หากผู้รับจ้างยังคงต้องการเรียกร้องสิทธิจากการถูกรบกวนแม้น้ำหนักความน่าเชื่อถือจะน้อยลงแล้วก็ตาม ผู้รับจ้างก็จะต้องมีการปรับปรุงการคำนวณโดยคำนึงถึงเหตุนั้นๆที่ตนต้องรับผิดชอบเองด้วย 

(b) Earned value analysis: หลักการของวิธีนี้ก็คือ การนำจำนวนman-hoursที่ใช้ทำงานหนึ่งจนแล้วเสร็จตามที่ปรากฏในtender allowanceมาเปรียบเทียบกับจำนวนactual man-hours ที่ใช้ทำงานนั้นจนแล้วเสร็จจริง ยกตัวอย่าง เช่น ในราคาประมูลที่ผู้รับจ้างคิดไว้ จะใช้20 man-hoursในการเทคอนกรีต 10cu.m.สำหรับชิ้นงานหนึ่งเพื่อที่จะearnedมูลค่าผลงานของชิ้นงานนี้ แต่ในความเป็นจริงต้องใช้ถึง35 man-hours ในการเทคอนกรีต 10cu.m.ดังกล่าวเพื่อที่จะearnedมูลค่าผลงานของชิ้นงานดังกล่าว จำนวน15 man-hoursที่ต้องใช้เพิ่มขึ้นนี้จึงถือเป็นproductivity loss 

(c) Programme analysis: วิธีนี้มีหลักการเดียวกันกับวิธีEarned value เพียงแต่จะต้องอาศัยแผนงานที่ใช้Softwareที่มีการใส่ปริมาณทรัพยากรต่างๆที่ใช้กับงานต่างๆได้แก่ แรงงาน เครื่องจักร ต้นทุนค่าใช้จ่าย เข้าไปในแผน (resource-loaded programmes) จากนั้นจึงอาศัยโปรแกรมในการUpdate %ความก้าวหน้าของงานและ คำนวณปริมาณทรัพยากรต่างๆที่ใช้จริง นำมาเปรียบเทียบกันระหว่างตามแผนและตามจริงเพื่อสรุปเป็นproductivity loss 

(d) Work or trade sampling: SCL ไม่ได้อธิบายความหมายหรือหลักการของวิธีนี้อย่างชัดเจน เพียงแต่อธิบายว่าการที่จะใช้วิธีนี้ได้จะต้องมีการเก็บบันทึกข้อมูลจากการเฝ้าสังเกตการณ์การวัดอัตราการทำงานในหน่วยงานก่อสร้าง(observations to determine productivity)ควบคู่ไปกับจากการอ้างพยานบุคคลที่ได้บันทึกการให้ถ้อยคำเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนวิธีการก่อสร้างหรือจำนวนช่างฝีมือและแรงงานในงานต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ 

(e) System dynamics modelling: SCL กล่าวว่าวิธีนี้เป็นการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการจำลองเหตุการณ์แบบ’but-for model’สำหรับdisrupted project แต่วิธีนี้ไม่ได้ถูกใช้กันมากนัก เพียงแต่อธิบายหลักการว่าเป็นการนำas-built programmeที่มีการบันทึกผลกระทบของdisruption eventsต่างๆไว้ มาคำนวณหาค่าแรงจริง(actual labour hour expenditures) จากนั้นจึงถอดเอาdisruption eventsทั้งหมดออกจากแผน เพื่อเปรียบเทียบและคำนวณหาproductivity lossทั้งโครงการ 

1.2 Project- comparison studies

วิธีนี้อาศัยProject recordsน้อยกว่า จึงใช้กับการวิเคราะห์ที่ไม่มีการเก็บบันทึกข้อมูลเพียงพอที่จะสามารถใช้วิธี Project-specific studiesต่างๆดังที่กล่าวมาข้างต้น กล่าวคือวิธีนี้เป็นการเปรียบเทียบโครงการที่ต้องการวิเคราะห์การทำงานได้ไม่ต่อเนื่อง(disrupted project) กับโครงการอื่นๆที่มีลักษณะเดียวกันหรือมีการทำงานคล้ายกันที่ไม่ได้มีเหตุรบกวนที่สามารถทำงานได้ต่อเนื่อง และ สามารถนำมาเปรียบเทียบได้บนพื้นฐานเดียวกันได้อย่างมีน้ำหนัก 

1.3 Industry studies

วิธีนี้อาศัยการอ้างอิงผลจากงานวิจัยที่มีการเผยแพร่ไว้(industry-wide research)มาช่วยในการวิเคราะห์ วิธีนี้จึงใช้ในกรณีที่ไม่มีการเก็บบันทึกข้อมูลเพียงพอที่จะสามารถใช้วิธี Project-specific studies และ ไม่มีโครงการอื่นๆที่มีลักษณะเดียวกันหรือมีการทำงานคล้ายกันที่จะหยิบยกมาใช้เปรียบเทียบแบบ Project- comparison studies ได้

ตัวอย่างของงานวิจัยที่เป็นIndustry studies ที่ใช้อ้างอิงกันในวงการ ก็มีอาทิเช่น งานวิจัยของ MCAA (the Mechanical Contractors Association of America)ที่มีการรวบรวม%productivityที่ตกลงอันเป็นผลมาจากผลกระทบของเหตุที่รบกวนการทำงานต่างๆตามความรุนแรงที่แตกต่างกันไป หรืองานวิจัยอื่นๆ งานวิจัยของThe Chartered Institute of Buildingที่ชื่อว่า”Effects of Accelerated Working, Delay and Disruption on Labour Productivity”และงานวิจัยขององค์กรอื่นๆเช่น  NECA (the National Electrical Contractors of America) the U.S. Army Corps of Engineer , หรือกรณีศึกษาทางวิชาการของมหาวิทยาลัย เป็นต้น 

2.    Cost-base methods

วิธีวิเคราะห์การทำงานได้ไม่ต่อเนื่องแบบนี้เข้าข่ายลักษณะเป็นGlobal claimที่มีน้ำหนักความน่าเชื่อถือน้อยกว่าวิธีproductivity-based methods จึงควรใช้วิธีเมื่อจำเป็นในกรณีที่ไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะใช้คำนวณการสูญเสียproductivityได้หรือใช้วิธีนี้ในการเปรียบเทียบเชิงสอบทานกับวิธีอื่นเท่านั้น หลักการง่ายๆของวิธีCost-based ก็คือการหาผลต่างระหว่างค่าแรงที่ผู้รับจ้างต้องจ่ายจริงกับค่าแรงที่ได้รับจากเงินผลงานที่เบิกได้จากผู้ว่าจ้างซึ่งผลต่างนี้ก็คือผลขาดทุน หากผู้รับจ้างสามารถคำนวณหักส่วนที่เป็นการคิดman-hourตกหล่นเองและหักส่วนที่เป็นDisruption eventsที่ผู้รับจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบเองออกจากผลขาดทุนนี้ได้ก็จะทำให้การวิเคราะห์แบบนี้มีน้ำหนักมากขึ้น เนื่องจากประเด็นสำคัญที่สุดสำหรับการเรียกร้องค่าเสียหายจากการทำงานได้ไม่ต่อเนื่อง(Disruption claim)นี้ (แม้จะเป็นลักษณะGlobal claimที่ไม่สามารถแจกแจงในรายละเอียดของแต่ละเหตุการณ์หลายๆเหตุที่เกิดสะสมกันมาก็ตาม)อยู่ที่การพิสูจน์ได้ว่าเหตุDisruption eventsที่เป็นที่มาของการเรียกร้องสิทธินั้นๆเป็นความรับผิดชอบของผู้ว่าจ้างทั้งหมดอย่างแท้จริง 

ในตอนต่อไปจะกล่าวถึง AACE International (the Association for the Advancement of Cost Engineering)ที่เป็นอีกองค์กรหนึ่งของอเมริกาที่มีการเผยแพร่เอกสารที่เป็นRecommended practicesต่างๆคล้ายSCLของอังกฤษ  หากสนใจ โปรดติดตาม..... 

References and Credits: 
- https://www.scl.org.uk/resources/delay-disruption-protocol

No comments:

Post a Comment