Monday 10 April 2017

0.มาช่วยกันยกระดับวงการก่อสร้างไทยกันเถอะ

เกริ่นนำBlogนี้ 

 

ริ่มต้น

Bloggerมือใหม่เริ่มคิดที่จะเขียนblogนี้เป็นครั้งแรกในเดือนเมษายน 2560 หลังจากผ่านร้อนผ่านฝนในวงการบริหารโครงการก่อสร้างมาก็มากพอควร คิดฝันที่จะเห็นบ้านเมืองเราพัฒนาทัดเทียมนานาอารยประเทศมาเรื่อยจนกระทั่งอารยประเทศที่ว่าจำกัดแค่ระดับเพื่อนบ้านทางใต้ของเราก็พอและอย่าให้ลดระดับลงไปมากกว่านี้เลย ตอนนี้พอจะมีเวลาว่างพอที่จะเอาประสบการณ์และความถนัดที่ตนเองมีอยู่มาขีดเขียนอะไรบางอย่าง อย่างน้อยถ้ามีคนเข้ามาอ่านแล้วนำข้อความต่างๆในblogนี้ไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้ก็หวังว่ามือไม้เล็กๆนี้จะช่วยให้พัฒนาวงการๆหนึ่งในบ้านเราได้บ้าง ...ก็คนละไม้คนละมือตามสำนวนไทย... หากท่านก็มีอุดมการณ์เดียวกัน.....โปรดอ่านต่อไป
Blogนี้สำหรับวงการก่อสร้างไทย
ในทัศนะส่วนตัว เห็นว่าการก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่เป็นหัวรถจักรในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เป็นการสร้างบ้านแปงเมืองที่สามารถสร้างงานต่อเนื่องให้เกิดอาชีพต่างๆตามมามากมาย  เมื่อเศรษฐกิจแฟบ วงการนี้ฟุบก่อน เมื่อเศรษฐกิจฟู วงการนี้คึกคัก (บ้านเมืองอื่นก็ย่อมไม่ต่างกัน)แน่นอนการวางผังเมือง วางแผนแม่บทระบบสารณูปโภค เส้นทางคมนาคมต่างๆและการควบคุมสิ่งแวดล้อมอย่างชาญฉลาดและจริงจังของบ้านเราก็เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวดควบคู่ไปกับความคึกคักของงานก่อสร้างที่เกิดจากการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศ


อะไรที่วงการบ้านเรายังต้องenhance
ในทัศนะส่วนตัว(อีกเช่นกัน) เห็นว่าคนไทยมีทักษะทางช่างไม่แพ้ใคร แรงงานก่อสร้างไทยฝีมือดี มีหัวพลิกแพลงแก้ไขปัญหาทางเทคนิคได้ดี บริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ๆของไทยก็เก่งในเชิงเทคนิคและพัฒนามามากพอสมควรในด้านขีดความสามารถในการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ๆได้เป็นอย่างดี แม้เราจะยังไม่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยทั้งในด้านการออกแบบและการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องจักรเครื่องมือ เทคโนโลยีในการก่อสร้างใหม่ๆที่ช่วยให้งานก่อสร้างรวดเร็ว ปลอดภัยและคุ้มค่าการลงทุน ทัดเทียมประเทศที่เจริญแล้วก็ตาม เราก็ยังสามารถซื้อและเรียนรู้เทคโนโลยีจากประเทศที่ประสบความสำเร็จมาแล้วได้


Blogนี้จึงไม่ได้เน้นที่จะพูดถึงในเชิงเทคนิคช่างหรือเทคโนโลยีทางวิศวกรรมก่อสร้าง หรือแม้แต่กระบวนวิธีการบริหารโครงการ(Project Management) หรือการบริหารงานก่อสร้าง(Construction Management) ที่ผู้เขียนเห็นว่าบ้านเรามีคนเก่งๆ(กว่าผู้เขียนนี้)รวมไปถึงผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันต่างๆอยู่มากมายในวงการก่อสร้างของบ้านเราที่จะเป็นมือไม้ใหญ่หรือเป็นแม่งานให้กับการพัฒนาวงการก่อสร้างของไทยในแง่มุมนั้น
 ในทัศนะส่วนตัว(อีกนั่นแหละ) สิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่ายังคงต้องยกระดับ(enhance)สำหรับวงการก่อสร้างบ้านเรา คือการวางรากฐานการกำหนดกฏเกณฑ์กติกาการว่าจ้างทำการก่อสร้างด้วยสัญญาก่อสร้างของไทยที่เป็นธรรมและได้มาตรฐานสากล การบัญญัติและการบังคับใช้กฏหมายให้มารองรับการปฏิบัติตามสัญญาของคู่สัญญาโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีความเข้าใจในกระบวนการปฏิบัติงานในการก่อสร้าง ตลอดจนการวางกฏกติกาเกี่ยวกับการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อระงับข้อพิพาทกันเองระหว่างคู่สัญญาในเบื้องต้น การปรับปรุงกระบวนการอนุญาโตตุลาการเฉพาะด้านสัญญาก่อสร้าง ไปจนถึงการเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องกันทางศาลที่หากสามารถพัฒนาไปสู่การจัดตั้งศาลแพ่งเฉพาะด้านงานก่อสร้างก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างไทย

หากงานจัดทำมาตรฐานและการบริหารสัญญาก่อสร้างและข้อพิพาทในงานก่อสร้างนี้ถูกเริ่มวางรากฐานให้มั่นคงแข็งแรงและพัฒนาปรับปรุงต่อยอดจากฐานไปเรื่อยๆตั้งแต่วันนี้ ควบคู่ไปกับการศึกษาอ้างอิงกับหลักปฏิบัติที่เป็นสากล(ซึ่งย่อมต้องพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษในด้านนี้ตามไปด้วย)แล้ว เชื่อว่าสถาปนิกไทย วิศวกรไทย ผู้รับเหมาไทยและบุคคลากรด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องตลอดจนนักลงทุนไทยก็จะสามารถไปผงาดในเวทีการก่อสร้างโครงการใหญ่ๆในโลกนี้ได้อย่างภาคภูมิได้ในที่สุด


ตอนต่อไปจะพูดถึง สัญญาก่อสร้างมาตรฐานสากลที่ไทยเราควรศึกษา หากสนใจโปรดติดตาม..... 

2 comments:

  1. ขอยกย่องในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในวงการก่อสร้าง ขอเชิญชวนมาเป็นสมาชิกของสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทยเพื่อช่วยกันผลักดันในภาคปฏิบัติต่อไป

    ReplyDelete
    Replies
    1. ขอบคุณมากครับ ผมจะพิจารณาสมัครสมาชิกสมาคมวปท.เพื่อช่วยกันผลักดันต่อไป

      Delete