Thursday, 27 April 2017

4.เอกสารDelay&Disruption Protocol(แก่นหลัก)ตอนที่2

เอกสาร "Delay and Disruption Protocol" ตอนที่2

ตอนที่แล้วได้แนะนำให้ผู้อ่าน(ที่ยังไม่เคยทราบ)ได้รู้จักกับเอกสารDelay and Disruption Protocol 2nd editionในเบื้องต้นไปแล้ว ตอนนี้และตอนต่อๆไปจะพยายามนำท่านผู้ที่สนใจได้เข้าสู่เนื้อหาของเอกสารนี้ไปทีละตอนเฉพาะที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเป็นเรื่องของแนวคิดจากหลักการต่างๆที่อาจจะไม่เป็นไปอย่างที่วงการก่อสร้างบ้านเราคุ้นเคย โดยจะพยายามย่อยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น โปรดติดตามต่อไป.....
แต่ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหา ผู้เขียนขอพูดถึงบทนำ(Introduction)ของเอกสารนี้โดยสังเขปเสียก่อนเพื่อให้เข้าใจวัตถุประสงค์ของผู้จัดทำเอกสารนี้ให้ถ่องแท้เสียก่อน ผู้เขียนเข้าใจจากการอ่านบทนำ (Introduction)ของเอกสารนี้ว่า เหตุที่เรียกเอกสารนี้ว่าเป็นพิธีสาร (Protocol) เนื่องจากเอกสารนี้ไม่ใช่บทบัญญัติที่จะบังคับใช้ได้เท่าเทียมหรือเหนือกว่าตัวบทกฎหมายหรือนิติกรรมสัญญาแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงหลักคิดที่เป็นเหตุเป็นผลในการวินิจฉัยเรื่องของความล่าช้าและการทำงานได้ไม่ต่อเนื่อง(Delay and Disruption)โดยสืบค้นและพิสูจน์ทราบจากเอกสารหลักฐานเพื่อใช้ในการเจรจากันด้วยวิถีทางแบบทางการฑูต แม้จะต้องยอมรับว่าเรื่องความล่าช้าที่เกิดขึ้นและคำสั่งต่างๆที่ทำให้งานก่อสร้างหยุดชะงักหรือต้องชะลอลงที่มักเป็นต้นเหตุนำไปสู่ข้อพิพาทนี้จะไม่มีคำตอบในการวินิจฉัยที่เป็นสูตรสำเร็จตายตัวก็ตาม

หากคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างตกลงกันที่จะยึดถือหลักคิดเดียวกันในการเจรจาตกลงกันตามเอกสารหลักฐานเพื่อหลีกเลี่ยงข้อพิพาทได้คดีความต่างๆก็จะลดลงได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้หากคู่กรณีไม่สามารถตกลงกันได้ เอกสารนี้ก็ได้วางแนวทางหลักคิดให้แก่คนกลางที่จะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดต่างๆได้แก่ คนกลางที่คู่สัญญาแต่งตั้ง(adjudicator), คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท(Dispute Review Board),อนุญาโตตุลาการ(Arbitrators),และผู้พิพากษา(Judges)ตามลำดับ ได้ใช้ประกอบการพิจารณาหาผู้ที่ต้องรับผิดชอบหรือร่วมรับผิดชอบในความเสียหายของแต่ละฝ่ายอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความล่าช้าของโครงการก่อสร้างที่ต่างก็โต้แย้งกันด้วยความเข้าใจในวิธีการพิจารณาเอกสารหลักฐานสำคัญๆ อันได้แก่แผนงานก่อสร้าง(Works programme)และเอกสารบันทึก(Project Records)ต่างๆ

 แก่นของหลักการ (Core Principles) 22 ข้อ
ต่อไปนี้เป็นแก่นของหลักการ22ข้อ ที่มีการขยายความไว้ใน Part Bของเอกสาร 

1. แผนงานและเอกสารบันทึกต่างๆ (Programme and records)
ในสัญญาควรระบุให้ผู้รับจ้างส่งแผนงานและเอกสารประกอบต่างๆที่จำเป็นในการแสดงลำดับขั้นตอนดำเนินการก่อสร้างของผู้รับจ้างให้ผู้ควบคุมงาน (SCLเรียกว่าContract AdministratorหรือCA) เห็นชอบก่อนเริ่มทำงาน และมื่อทำงานไปแล้ว ควรจะมีการบันทึกความก้าวหน้าของงานที่เกิดขึ้นจริง(actual progress) การเปลี่ยนแปลงงาน(Variations) การเปลี่ยนแปลงขั้นตอนวิธีการทำงาน(Changes of logic,methods and sequences), การตีคืนเวลาและการเร่งรัดงาน(mitigation or acceleration measures) และการขอขยายเวลาที่ได้รับอนุมัติแล้ว(EOTs granted) ลงในแผนงานให้เป็นปัจจุบันโดยตลอดทุกๆเดือนและเก็บรักษาแผนงานที่Updateแต่ละครั้งไว้ไปจนจบโครงการ

2.วัตถุประสงค์ของการขยายระยะเวลาก่อสร้าง (Purpose of EOT)
ทั้งผู้รับจ้างและผู้ว่าจ้างได้ประโยชน์จากการขยายระยะเวลาก่อสร้าง ผู้รับจ้างได้รับประโยชน์จากการที่ตนไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากความล่าช้าแก่ผู้ว่าจ้าง (ที่เรามักคุ้นเคยกันกับคำว่าliquidated damages หรือ LDs) ตามระยะเวลาที่ได้รับการอนุมัติให้ขยายออกไปและได้รับโอกาสในการปรับแผนงานเพื่อทำงานให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่ได้รับการขยายออกไป ส่วนผู้ว่าจ้างได้รับประโยชน์จากการที่ระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีจุดสิ้นสุดที่แก้ไขใหม่โดยไม่ขยายออกไปโดยไม่มีจุดสิ้นสุด หรือที่เรียกว่า "Time At Large"และผู้ว่าจ้างได้รับโอกาสในการปรับแผนโครงการและประสานงานโครงการตามแผนปรับใหม่ เช่นการปรับแผนการฝึกอบรมพนักงานฝ่ายOperationเป็นต้น (ผู้เขียนเชื่อว่า บ้านเราไม่คุ้นเคยกับหลักการแนวคิดอันหลังนี้)

3.การปฎิบัติตามกระบวนการตามเงื่อนไขสัญญา (Contractual procedural requirements)
คู่สัญญาและCA (ผู้ควบคุมงาน)ควรปฏิบัติตามกระบวนการตามเงื่อนไขสัญญาเกี่ยวกับการยื่นเรื่องเรียกร้อง(Notices), เงื่อนไขเฉพาะ(Particulars),การอ้างหลักฐานสนันสนุนมายืนยัน(Substantiation) และ การประเมินค่าเวลาและความเสียหาย(assessment) ที่เกี่ยวกับเหตุที่ก่อให้เกิดความล่าช้า(delay events)ต่างๆ 

4. ไม่ควร "รอดูไปก่อน" เมื่อเกิดผลกระทบจากเหตุที่ก่อให้เกิดความล่าช้า (Do not "wait and see" regarding impact of delay events) 
การเรียกร้องขอขยายระยะเวลา และ/หรือ ขอเงินชดเชยเพิ่มเติมควรกระทำทันทีที่เหตุที่ก่อให้เกิดความล่าช้าเกิดขึ้นหรือได้ทราบว่าจะเกิดเหตุขึ้นเพื่อเจรจาตกลงกันโดยเร็ว ผู้รับจ้างไม่ควร"รอดูไปก่อน"แล้วปล่อยให้ความล่าช้าดำเนินไปแล้วจึงมาเรียกร้องภายหลัง ผู้ควบคุมงาน(CA)ก็ควรพิจารณาข้อเรียกร้องของผู้รับจ้างว่าเห็นควรให้หรือไม่ให้ตามสิทธิที่พึงเรียกร้องได้(ภายใต้เหตุที่เป็นความเสี่ยงที่ผู้ว่าจ้างพึงต้องรับไปที่SCLเรียกว่าEmployer Risk Events)มากน้อยเพียงใด ให้แล้วเสร็จในเวลาอันควร 

5. กระบวนการอนุมัติการขยายระยะเวลาก่อสร้าง (Procedure for granting EOT)
โดยทั่วไปแล้วการอนุมัติขยายระยะเวลาก่อสร้างจะอยู่บนเงื่อนไขว่า ได้เกิดเหตุที่ถือเป็นEmployer Risk Eventsตามเงื่อนไขสัญญาขึ้นและมีผลกระทบต่อCritical pathsในแผนงานที่ทำให้ระยะเวลาที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จตามแผนเดิมต้องยืดออกไป ซึ่งต้องอาศัยวิธีการวิเคราะห์ความล่าช้า(Delay analysis)ที่เหมาะสม

6.ผลกระทบจากความล่าช้า (Effect of Delay)
ในการอนุมัติการขยายระยะเวลาก่อสร้างนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดเหตุที่ถือเป็นEmployer Risk Eventsและส่งผลกระทบต่อการทำงานของผู้รับจ้างขึ้นแล้วหรือไม่จำเป็นที่เหตุนั้นจะต้องจบลงเสียก่อน
จึงจะพิจารณาอนุมัติได้ 

7. การพิจารณาขยายระยะเวลาทีละช่วง (Incremental review of EOT)
แต่ในกรณีที่ผู้ควบคุมงาน(CA)ยังไม่อาจคาดการณ์ถึงผลกระทบโดยรวมของเหตุที่ถือเป็นEmployer Risk Eventsได้อย่างชัดเจนในขณะที่กำลังพิจารณาข้อเรียกร้องในเบื้องต้นนั้น การอนุมัติขยายระยะเวลาในเบื้องต้นก็ย่อมจะทำได้เฉพาะในส่วนของช่วงเวลาที่ผลกระทบจากเหตุนั้นๆเกิดขึ้นจริงแล้ว จากนั้นจึงค่อยพิจารณาผลกระทบต่อเนื่องที่อาจเพิ่มขึ้นอีกต่อไป

8.การพิจารณาFloat (Float as it relates to time)
การพิจารณาอนุมัติการขยายระยะเวลาก่อสร้างนั้น ให้พิจารณาว่าความล่าช้าที่เกิดจากฝ่ายผู้ว่าจ้าง(Employer delay)นั้นสามารถวิเคราะห์ได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อCritical pathหรือใช้floatที่มีอยู่ในpathอื่นๆจนเหลือน้อยกว่าศูนย์ 

9.การแสดงค่าFloatในแผนงาน (Identification of Float)
การแสดงค่าFloatในแผนงานที่เขียนขึ้นและมีการupdateเป็นระยะๆอย่างเหมาะสม จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการวิเคราะห์ผลกระทบจากเหตุที่จะก่อให้เกิดความล่าช้าว่าควรอนุมัติให้มีการขยายเวลาก่อสร้างหรือไม่เพียงใด

10. ความล่าช้าจากทั้งสองฝ่าย (Concurrent delay - effect on entitlement to EOT)
ความล่าช้าจากทั้งสองฝ่ายหมายถึง ทั้งผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างก่อให้เกิดความล่าช้าจาก Employer Risk Eventและ Contractor Risk Event และเกิดผลกระทบในCritical pathต่อระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จตามแผนเดิมขึ้นพร้อมๆกัน ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ SCLมีหลักคิดว่าการขยายระยะเวลาก่อสร้าง(EOT)อันเกิดจาก Employer Risk Eventที่ยาวนานเกินกว่าContractor Risk Eventนั้นจะไม่ถูกหักด้วย Concurrent delay ที่เกิดจากContractor Risk Eventที่สั้นกว่า (แนวคิดนี้เราก็คงไม่คุ้นเคยกัน แต่ในแก่นหลักการข้อนี้SCLพูดถึงผลของConcurrent delayต่อการขยายเวลาเท่านั้น ส่วนผลต่อการชดเชยค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจะอยู่ในข้อ14.)

11.การวิเคราะห์ความล่าช้าแบบย้อนเหตุการณ์ (Analysis time-distant from the delay event)
เมื่อผู้รับจ้างเรียกร้องสิทธิในการขอขยายระยะเวลาก่อสร้าง หลังจากงานแล้วเสร็จเกินกำหนดเวลาตามสัญญาไปแล้วหรือมาเรียกร้องเอาเมื่อเหตุEmployer Risk Eventนั้นๆ ล่วงเลยไปแล้วนานพอสมควร ในกรณนี้แก่นหลักการข้อ4ย่อมใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะการวิเคราะห์ต่างๆจะเป็นการทำแบบย้อนเหตุการณ์ 

12.สิทธิอันพึงจะได้รับการขยายระยะเวลาก่อสร้างและสิทธิได้เงินชดเชยเพิ่ม (Link between EOT and compensation) 
 สิทธิอันพึงจะได้รับการขยายระยะเวลาก่อสร้าง ไม่ได้ผูกติดกับสิทธิอันพึงได้รับการชดเชยค่าก่อสร้างเพิ่มเติมโดยอัตโนมัติ ผู้รับจ้างมักคิดว่าหากตนได้รับอนุมัติขยายระยะเวลาก่อสร้าง(EOT)แล้วจะต้องมีสิทธิที่จะได้รับเงินชดเชยจากเวลาที่ยืดออกไป(Prolongation costs)ตามช่วงEOTนั้นโดยอัตโนมัติ
ความเข้าใจว่าสองเรื่องนี้ผูกติดกันเสมอเป็นความคิดที่ผิดเนื่องจากมีเหตุการณ์บางอย่างเช่น สภาพอากาศที่ทำงานไม่ได้(adverse weather ซึ่งเข้าใจว่าในต่างประเทศจะมีเหตุเช่นนี้ที่รุนแรงมากเกิดขึ้นได้บ่อย)ที่ถือเป็นnon-compensable Employer Risk Eventsที่ผู้ว่าจ้างไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย รวมทั้งอาจมีปัจจัยอื่นๆที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมร่วมด้วยจึงจะมีเหตุอันควรว่านอกจากจะอนุมัติEOTแล้วผู้ว่าจ้างยังจะต้องจ่ายProlongation costเพิ่มเติมให้แก่ผู้รับจ้างด้วยหรือไม่

13.สิทธิได้รับเงินชดเชยความล่าช้าจากแผนที่จะเสร็จงานก่อนสัญญา (Early completion as it relates to compensation)
กรณีที่ผู้รับจ้างวางแผนที่จะทำงานให้แล้วเสร็จก่อนกำหนดระยะเวลาตามสัญญาด้วยวิธีการที่สมเหตุสมผลและมีความเป็นไปได้ตั้งแต่เริ่มต้นทำสัญญากับผู้ว่าจ้าง หากภายหลังเกิดEmployer Risk Eventที่ทำให้งานล่าช้าขึ้น ทำให้ผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานแล้วเสร็จเร็วกว่าสัญญาตามแผนได้โดยวันที่ใหม่ที่คาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จที่ล่าช้าออกไปนั้นยังไม่พ้นกำหนดแล้วเสร็จตามสัญญา ผู้รับจ้างจะไม่ได้รับการอนุมัติขยายเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญาเดิม แต่ควรจะได้รับการชดเชยเงินค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เป็นผลมาจากEmployer Risk Eventนั้น (ผู้เขียนเห็นว่ากรณีนี้น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก เพราะเจ้าของงานย่อมต้องการให้ถือเอาวันที่ผู้รับจ้างมั่นใจว่าจะทำงานเสร็จก่อนนั้นนำมาเป็นวันสิ้นสุดสัญญาใหม่ที่เร็วขึ้นเสียเลยก่อนที่จะตกลงเซ็นสัญญากัน)

14.ผลของความล่าช้าจากทั้งสองฝ่ายที่มีต่อการเรียกเงินเพิ่มจากความล่าช้า (Concurrent delay - effect on entitlement to compensation for prolongation)
กรณีที่เกิดความล่าช้าจากทั้งสองฝ่ายพร้อมๆกัน ผู้รับจ้างจะมีสิทธิได้รับเงินชดเชยเพิ่มเฉพาะที่เกิดจากความล่าช้าโดยผู้ว่าจ้าง(Employer delay) ดังนั้นจึงต้องแยกหรือหักค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความล่าช้าที่เกิดจากผู้รับจ้างเอง(Contractor delay)ออกไป

15. หน้าที่ในการเร่งรัดตีคืนเวลาและจำกัดค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้เพิ่มเติม (Mitigation of delay and mitigation of loss)
ผู้รับจ้างมีหน้าที่ที่จะต้องเร่งรัดตีคืนเวลาที่ต้องล่าช้าออกไปจากเหตุที่ถือว่าเป็นEmployer Risk Events แต่ไม่ได้หมายความความผู้รับจ้างจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มคนเพิ่มเครื่องจักรหรือเพิ่มการทำงานล่วงเวลาเพื่อเร่งรัดงาน แต่ทั้งนี้ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องจำกัดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่จะต้องใช้เพื่อเร่งรัดตีคืนเวลากลับมาให้น้อยที่สุด คือต้องไม่เพิ่มค่าใช้จ่ายอย่างไร้เหตุผล 

16. การเร่งรัดงาน (Acceleration)
 กรณีที่ต้องมีการเร่งรัดงาน ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างควรตกลงเรื่องการจ่ายค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมและวิธีการบันทึกผลจากการเร่งรัดงานกันให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะเริ่มเร่งรัดงาน ส่วนในกรณีที่ผู้รับจ้างยื่นเรียกร้องขอขยายระยะเวลาก่อสร้างแต่ไม่ได้รับอนุมัติจึงต้องเร่งรัดงานเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ว่าจ้างอันเนื่องมาจากงานไม่แล้วเสร็จตามกำหนดในสัญญา(liquidated damages)จะถือเป็นการเร่งรัดงานที่ผู้รับจ้างต้องเรียกร้องสิทธิที่เรียกว่า Constructive acceleration claim ภายใต้กระบวนการระงับข้อพิพาทตามที่ระบุในสัญญาต่อไป 

17.การเรียกร้องสิทธิแบบไม่แจงรายละเอียด(Global Claims)
 SCLไม่สนับสนุนในการที่ผู้รับจ้างจะเรียกร้องสิทธิแบบไม่แจกแจงที่มาที่ไป โดยไม่พยายามยกเอารายละเอียดที่เป็นเหตุเป็นผลมาสนับสนุนข้อเรียกร้องที่เรียกว่า Global claims 

18. การเรียกร้องสิทธิจากการทำงานได้ไม่ต่อเนื่อง (Disruption Claims)
การเรียกร้องสิทธิจากการทำงานได้ไม่ต่อเนื่อง (Disruption claims)นี้ เป็นการที่ผู้รับจ้างเรียกร้องเงินชดเชยการขาดทุนหรือการต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการผลิตผลงานได้ไม่เต็มที่ (loss of productivity)จากเหตุที่ฝ่ายผู้ว่าจ้างควรจะเป็นผู้รับผิดชอบ

19. การประเมินมูลค่าและเวลาจากงานเปลี่ยนแปลงเพิ่มลด (Valuation of variations)
ในทุกๆครั้งที่มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน ฝ่ายผู้ว่าจ้างและผู้ควบคุมงาน(CA)และฝ่ายผู้รับจ้างควรเจรจาตกลงกันถึงมูลค่างานอันเป็นผลมาจากคำสั่งเปลี่ยนแปลงเพิ่มลดงานทั้งหมด ทั้งต้นทุนทางตรง(direct costs) ซึ่งได้แก่ค่าวัสดุ ค่าเครื่องจักร ค่าแรงงาน, ต้นทุนผันแปรตามเวลาและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการที่งานต้องหยุดชะงักหรือชะลอลงจากคำสั่งเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ทำงานได้ไม่ต่อเนื่อง(time-related and disruption costs) ตลอดจนการตกลงปรับแก้แผนงานและขยายระยะเวลาก่อสร้าง 

เมื่อมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มลดงาน (Variation and/or changes) หากมีการเรียกร้องเงินชดเชยเพิ่มเกี่ยวกับความล่าช้าและการทำงานได้ไม่ต่อเนื่อง(Prolongation and disruption)จากคำสั่งดังกล่าวนอกเหนือจากงานเพิ่มลดตามBOQด้วยนั้น  SCL แนะนำว่าควรจะตกลงกันให้ได้ข้อยุติโดยเร็วเป็นกรณีๆไป ไม่ควรปล่อยไว้จนท้ายโครงการแล้วจึงมารวบรวมรวมเรียกร้องรวมกันเพราะมักรายละเอียดเอกสารหลักฐานที่จะนำมาสนับสนุนที่ไม่ได้เรียกดูกันเป็นกรณีๆไปนั้นเมื่อถึงช่วงท้ายโครงการมักจะค้นหาไม่พบหรืออาจสูญหายไป จนการเรียกร้องสิทธิจะเข้าลักษณะเป็นGlobal claimซึ่งไม่ใช่good practiceเพราะจะมีน้ำหนักไม่มากพอ 

20. พื้นฐานการคำนวณเงินชดเชยจากเวลาที่ยืดเยื้อออกไป(Basis of calculation of compensation for prolongation)
การคำนวณเพื่อเรียกร้องสิทธิเงินชดเชยจากเวลาที่ยืดเยื้อออกไปนี้ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจริงจากเวลาที่ก่อสร้างที่ล่าช้ายืดเยื้อออกไปจากเหตุที่ถือเป็นEmployer Risk Event (ผู้เขียนจึงเห็นว่าผู้รับจ้างต้องเปิดเผยต้นทุนผันแปรตามเวลาที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเวลาที่ยืดเยื้อออกไปเท่าที่ต้องการเรียกร้องเงินชดเชยส่วนนี้โดยไม่สามารถบวก%กำไรได้) เว้นแต่ว่าในสัญญาจะมีการตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นๆ (เช่นที่ผู้เขียนเคยพบในบางโครงการ จะกำหนดเป็น%สำหรับบวกเพิ่มค่าPreliminaryบนยอดรวมDirect costsของงานเพิ่มทุกรายการตายตัวไว้เลย) 

ผู้รับจ้างจะมีสิทธิเรียกร้องเงินชดเชยเพิ่มเติมจากความล่าช้า(Compensation for prolongation)ต่อเมื่อเหตุแห่งความล่าช้านั้นเป็นEmployer Risk Eventเท่านั้น (ไม่ใช่ Contractor Risk Event)และผู้รับจ้างสามารถแสดงได้ว่าตนขาดทุนและ/หรือต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มจากเหตุนั้นจริง(suffered from actual loss and/or expense incurred) 

เพื่อหลีกเลี่ยงข้อโต้แย้งจากการพิสูจน์ทราบบัญชีต้นทุนจริง ในบางโครงการจึงมีการกำหนดจำนวนเงินชดเชยต่อวันเป็นอัตราแน่นอนตายตัวในกรณีที่ความล่าช้าเกิดจากเหตุที่ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดชอบซึ่งตรงกันข้ามกับเหตุที่ก่อให้เกิดค่าเสียหายจากความล่าช้า(Liquidated damages)ที่ผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบ

21. ความเกี่ยวข้องกับราคาประมูลที่เผื่อไว้ (Relevance of tender allowances)
ราคาประมูลที่เผื่อไว้มีความเกี่ยวข้องกับการคำนวณเงินชดเชยจากเวลาที่ยืดเยื้อออกไป(Prolongation cost)และค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการทำงานได้ไม่ต่อเนื่อง(Disruption cost)ในวงจำกัด (ผู้เขียนเข้าใจว่าคำว่าTender allowancesนั้นSCLน่าจะหมายถึึงราคาค่าก่อสร้างตามสัญญาทั้งในหมวดPreliminaryที่มีหลายรายการเป็นTime-related valueซึ่งเทียบได้กับProlongation cost และในหมวด measured works ที่เป็นDirect costsซึ่งเทียบได้กับ Disruption cost แม้ว่าจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันแต่ราคาประมูลเป็นPrice หรือValueที่เป็นราคาขาย ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างจำกัดคือไม่ควรเอามาคิดปะปนกันกับActual Cost incurredหรือต้นทุนที่เกิดจริงจากบันทึกในระบบบัญชี)

 SCL อธิบายว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดๆในวงการก่อสร้างสำหรับความคิดที่ว่าการใส่ราคาสำหรับSite overheads(ที่เราคุ้นเคยกันว่าหมวดPreliminary)ในราคาประมูลนั้น หากผู้รับจ้างใส่ไว้ในราคาประมูล(ซึ่งเป็นการเหมา)ต่ำเกินไปก็จะเกิดการโต้แย้งกันเมื่อเกิดกรณี prolongationจากEmployer delay eventsว่าผู้รับจ้างจะมีสิทธิเรียกร้องค่าPrelim.เพิ่มเติมได้หรือไม่ โดยSCLให้เหตุผลเรื่องนี้ว่า ที่ว่าเป็นความคิดที่ผิดนั้น ก็เนื่องจากสิทธิที่ผู้รับจ้างพึงได้รับการชดเชยนั้นจะต้องเกิดจากความเสียหายที่ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดชอบที่เกิดขึ้นกับผู้รับจ้างจริงๆเท่านั้น ทั้งที่เป็นSite overheadsและHead office overheads(ซึ่งSCL ได้ให้สูตรคำนวณHead office overheadไว้ในAppendix A) หรือแม้แต่ค่าสูญเสียโอกาสของHead officeของผู้รับจ้างจากการที่ไม่สามารถเข้ารับจ้างงานโครงการอื่นอันมีสาเหตุมาจากการที่ผู้รับจ้างยังต้องคงเครื่องจักร แรงงาน พนักงานฯลฯไว้ที่โครงการของผู้ว่าจ้างยืดเยื้อยาวนานกว่าที่ควรจะเป็นนั้น ก็พึงเรียกร้องค่าเสียหายได้หากสามารถพิสูจน์ได้ว่าตนเสียหายจริง 

การประเมินมูลค่าเงินเรียกร้องค่าชดเชยเพิ่มเติมจากความล่าช้าและการทำงานได้ไม่ต่อเนื่อง(Delay and disruption)ที่ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดชอบนี้จึงไม่ใช่เป็นการพิจารณาจากTender allowanceเพราะไม่ใช่การคิดราคาเพิ่มแบบค้ากำไร แต่เป็นการเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย เว้นแต่จะมีข้อตกลงกันในสัญญาเป็นอย่างอื่นให้สามารถอ้างอิงRateจากราคาประมูลมาใช้คำนวณเงินชดเชยค่าเสียหายในกรณีอย่างนี้ได้
22. ช่วงวลาที่ใช้คำนวณเงินชดเชยจากเวลาที่ยืดเยื้อออกไป(Period for evaluation of compensation)
 เมื่อมีการตกลงยอมรับกันว่าผู้รับจ้างมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากเวลาที่ยืดเยื้อออกไปแล้ว การคิดคำนวณยอดเงินชดเชยจะคิดจากช่วงเวลาที่Employer Risk Event ส่งผลกระทบให้ล่าช้าออกไป ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปจากกำหนดเวลาแล้วเสร็จเดิมในสัญญา

ทั้งหมดก็เป็นแก่นหลักการ (Core Principles)ทั้ง22ข้อที่เป็นแนวคิดหลักของSCL ซึ่งผู้อ่านสามารถ Downloadมาศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดได้ตามReferencesข้างล่าง  ตอนต่อไปจะหยิบยกบางส่วนของรายละเอียดที่น่าสนใจและเป็นเรื่องที่เราอาจไม่คุ้นเคยมาขยายความสู่กันฟัง หากสนใจ...โปรดติดตามตอนต่อไป......



References and Credits:

- https://www.scl.org.uk/resources/delay-disruption-protocol 

- https://www.whitecase.com/publications/alert/second-edition-scl-delay-and-disruption-protocol

No comments:

Post a Comment